The Unforgettable Journey: Royal project & Another Hound Cafe (Part 2)


The Unforgettable Journey: Royal project & Another Hound Cafe (Part 2)

หลังจากที่ทีมของเราได้ชมขั้นตอนการปลูกผักอินทรีย์ และได้ลองอโวคาสายพันธุ์แฮสกันไปแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางต่อ ในระหว่างทางนั้น เราก็ได้พบกับคุณป้าชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอที่กำลังจะเกี่ยวข้าวพอดี เลยได้โอกาสไปขอลองศึกษาวิธีเกี่ยวข้าว และพูดคุยกับคุณป้าท่าทางใจดีคนนี้ คุณป้ามีชื่อน่ารักๆ ว่า อิแฮ

Khunpaคุณป้าอิแฮกำลังเกี่ยวข้าวอย่างคล่องแคล่ว

พันธุ์ข้าวที่คุณป้ากำลังเก็บเกี่ยวอยู่นั้นคือ “ข้าวบือบอ” หรือ “ข้าวเหลือง” เป็นพันธุ์ข้าวที่ Another Hound Cafe เลือกใช้ในเมนูพิเศษนี้ด้วยเช่นกัน โดยเราได้เห็นเมล็ดพันธุ์ที่คุณป้าได้คัดเลือกไว้สำหรับปลูกในปีต่อไป แบบตั้งใจคัดด้วยมือทีละเม็ด เวลาที่นำไปปลูกต่อจะได้ไม่มีวัชพืชปนมาด้วย

Riceเมล็ดพันธุ์ข้าวเหลือง ที่คุณป้าตั้งใจเลือกเก็บไว้ปลูก

ก่อนที่จะเดินทางต่อ คุณป้ายังได้สอนภาษาปกาเกอะญอพื้นฐานให้เราด้วย

การทักทายจะพูดว่า“โอ๊ะมื่อโชเปอ” พร้อมจับมือไปด้วย

ขอโทษ : วีซะจู

ฉันรักเธอ : เจ๊ะแอะนา

ขอบคุณ : ตะบลือ **ระวังอย่าออกเสียงผิด ถ้าออกเสียงเป็น ต่าปรือ จะแปลว่าผีบ้าทันที**

Khun pa Poseคุณป้าอิแฮ โพสท่าสวยๆ ให้เราเก็บภาพ

ต่อจากสนุกสนานกับการเรียนภาษาจากคุณป้ามาแล้ว เราก็เดินทางต่อ จนได้พบกับคุณลุงชาวปกาเกอะญออีกหนึ่งคน มีชื่อเป็นภาษาไทยอย่างไพเราะว่า “ดวงดี พระนารายณ์สัมพันธ์” จากการได้คุยกับคุณลุง คุณลุงเล่าให้ฟังว่าปกติแล้ว ลุงปลูกไม้ดอกคือยิปโซ กับลิ้นมังกร แต่ล่าสุดปลูกอโวคาโดด้วย ปีนี้ปลูกเพิ่มอีก 50 ต้น รวมแล้วตอนนี้คุณลุงปลูกอโวคาโดทั้งหมด 130 ต้น

Khun Lungคุณลุงดวงดี กับต้นอโวคาโดฝีมือการปลูกของตัวเองที่ปีนี้จะได้เก็บผลผลิตเป็นปีแรก

คุณลุงปลูกอโวคาโดมาเป็นเวลากว่าสี่ปี ปีนี้จะเป็นปีแรกที่จะสามารถเก็บผลผลิตได้ แต่ยังรอให้ผลแก่เต็มที่ก่อนจึงจะเริ่มเก็บผลผลิต โดยมีเจ้าหน้าที่ นักวิชาการจากโครงการหลวงคอยดูแลให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าโครงการหลวงยังคงช่วยเหลือชาวเขาให้ได้มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อยู่จนถึงทุกวันนี้ จากการคุยกับคุณลุงดวงดี คุณลุงมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุขอยู่ตลอดเวลา ถามว่ามีรายได้ดีหรือไม่ คุณลุงก็ตอบว่าพออยู่ได้สบาย เพราะข้าวก็ไม่ต้องซื้อ ปลูกกินเอง ที่อยู่ก็มีพร้อมไม่ต้องเช่า พิสูจน์ได้ว่าอยู่อย่างพอเพียงก็มีความสุขได้จริงๆ

Khun Lung Happyคุณลุงดวงดีกับรอยยิ้มสดใส ช่วยยืนยันว่าชีวิตพอเพียงก็มีความสุขได้

เราบอกลาคุณลุงดวงดี เพื่อเตรียมตัวออกเดินทางสู่เป้าหมายต่อไป โดยทีมงานจากโครงการหลวงเตือนมาว่าให้เตรียมตัวให้พร้อม เพราะจุดหมายต่อไปเดินทางค่อนข้างลำบาก ด้วยสภาพเส้นทางที่คดเคี้ยว และสภาพพื้นผิวที่เป็นหลุมเป็นบ่อ แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แม้ระยะทางจะไม่ไกลแต่ด้วยความสะเทือนของรถตลอดเส้นทางก็ทำให้ทีมงานเหนื่อยและปวดตัวไปตามๆ กัน รู้สึกได้ถึงความยากลำบากของทุกวัตถุดิบกว่าจะมาให้เราได้รับประทานกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยจริงๆ และในที่สุดเราก็เดินทางมาถึง บ้านแม่ยะน้อย เพื่อชม “ถั่วแขก” วัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในเมนูจาก ‘Royal Project-Our food is our Craftsmanship’

French Beanเมล็ดพันธุ์ถั่วแขกที่จะใช้ปลูกในวันนี้

ถั่วแขกจากโครงการหลวง เป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ชาวบ้านได้เล่าให้ทีมงานฟังว่าเมล็ดพันธุ์หนึ่งกิโลกรัม จะสร้างรายได้ให้ราวๆ หนึ่งหมื่นบาทเลยทีเดียว วันนี้ทีมงานโชคดีได้มีโอกาสคุยกับผู้ใหญ่บ้านของบ้านแม่ยะน้อยด้วย โดยท่านได้เล่าเรื่องราวให้ฟังว่า

” เมื่อก่อนจะไปไหน ทำอะไรก็ลำบากตลอด แต่ตั้งแต่โครงการหลวงเข้ามาช่วยก็ทำให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ดีขึ้น จริงๆ แล้วที่นี่มีการลองเพาะปลูกหลายๆ อย่าง และหนึ่งในพืชที่ปลูกแล้วได้ผลดีที่สุดก็คือถั่วแขก เพราะใช้พื้นที่ไม่มาก ขายได้ราคาดี การดูแลรักษาก็ไม่ยากนัก ขั้นตอนการปลูกเริ่มจากหยอดเมล็ดพันธุ์ลงในหลุม มีระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 50 เซ็นติเมตร ใช้เวลาการปลูกจนเก็บผลผลิตได้ประมาณ 45-50 วัน หลังจากนั้นก็สามารถเก็บผลผลิตได้วันเว้นวันเลย ความน่าสนใจของถั่วแขกคือในช่วงแรกที่มีขนาดเล็ก จะเรียกว่า “ถั่วเข็ม” ซึ่งก็สามารถรับประทานได้เช่นกัน หลายๆ คนก็ชอบ แต่ถ้าอยากให้เป็นถั่วแขกสมบูรณ์ ต้องรอเวลาอีกเล็กน้อยจากถั่วเข็มเล็กๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นถั่วแขกให้ได้รับประทานกัน

Khem vs Kakเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง “ถั่วเข็ม” และ “ถั่วแขก”

เช่นเดียวกับผักอินทรีย์ โครงการหลวงจะวางแผนในการปลูกให้ตามปริมาณความต้องการของลูกค้าเช่นกัน และมีการส่งเสริมพัฒนา ให้ความรู้กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ถั่วแขกที่สามารถขายได้ก็มีการกำหนดมาตรฐานไว้ด้วยคือต้องมีสีเขียวอ่อน ขนาดยาว 10-15 เซ็นติเมตร มีตำหนิได้เพียง 5-10% เท่านั้น (สำหรับผลผลิตในเกรด A จะมีตำหนิได้เพียง 5% เท่านั้น) รูปร่างของถั่วแขกต้องได้รูป งอในส่วนปลายได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพจะถูกคัดทิ้งในทันที อาจนำไปเป็นอาหารของสัตว์ต่อไป โดยชาวบ้านจะทำการคัดก่อนในเบื้องต้นหนึ่งครั้ง ก่อนส่งไปคัดบรรจุยังส่วนกลาง โรคที่อันตรายมากสำหรับถั่วแขกคือโรคราสนิม ถ้าพบราสนิมแล้วจะแพร่กระจายไปถึงผลผลิตส่วนอื่นด้วย จึงต้องมีการตรวจสอบเป็นอย่างดีก่อนเสมอ รีบคัดแยกผลผลิตที่เป็นโรคให้เร็วที่สุด สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่ได้มา จะมีการแบ่งให้ชาวบ้านปลูกเพื่อเป็นการกระจายรายได้ ประมาณครึ่งกิโลกรัม ก็จะได้ประมาณ 1 พันต้น ประมาณ 1 งาน รายได้ต่อรุ่นอย่างน้อยก็ประมาณ 3 พันบาท ถึงหนึ่งหมื่นบาทขึ้นอยู่กับการดูแล และความขยันในการเก็บผลผลิต โดยจะมีรถจากโครงการหลวงมารับ สามครั้งต่อหนึ่งสัปดาห์ ถั่วแขกเป็นถั่วที่ไม่เหี่ยวง่าย สามารถเก็บรวมกันไว้แล้วส่งให้ทีเดียวได้ เพราะการเดินทางลำบาก ต้องได้ผลผลิตมากพอ คุ้มค่าในแต่ละเที่ยว ซึ่งถั่วแขกก็มีการสุ่มตรวจวัดคุณภาพในทุกขั้นตอนเหมือนผักชนิดอื่นเช่นกัน ตามมาตรฐานของโครงการหลวง

ในวันนี้ ผู้ใหญ่บ้านได้ให้เกียรติมาสาธิตวิธีการปลูกถั่วแขกตั้งแต่เริ่มต้นให้ทีมงานได้ชมกันด้วย โดยเริ่มจากการขุดหลุมเตรียมพื้นที่ แล้วโรยปุ๋ยพร้อมขี้ไก่ผสมแกลบลงไปก่อน ต่อจากนั้นจึงใส่เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากโครงการหลวงลงไปในหลุมที่มีระยะห่างกันประมาณ 50 เซ็นติเมตร โดยแต่ละหลุมจะใส่เมล็ดพันธุ์ประมาณ 4 เมล็ด หรือบางที่อาจจะใส่หลุมละ 2 เม็ดก็ได้ แต่ไม่ควรเกิน 5-6 เมล็ด จากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์จึงเริ่มหาไม้มาปักหลักเพื่อให้ถั่วแขกเลื้อยขึ้นมาได้ สำหรับเวลาในการปลูกไม่มีกำหนดตายตัว สามารถปลูกได้ทั้งวัน หยอดเมล็ดพันธุ์เรียบร้อยแล้ว ก็รดน้ำให้ชุ่ม เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ”

Puyaibanผู้ใหญ่บ้านให้เกียรติมาสาธิตขั้นตอนการปลูกถั่วแขกด้วยตัวเอง

pickupชาวบ้านลงมือเก็บถั่วแขกสดๆ จากต้น

เห็นเป็นถั่วแขกฝักเล็กๆ แบบนี้ แต่ก็มีขั้นตอนและเรื่องราวไม่น้อย กว่าจะได้แต่ละต้นก็ต้องใช้การดูแล การคัดเลือกตามมาตรฐาน และเมื่อทีมงานได้ลงไปสัมผัสถึงสถานที่จริง ได้เห็นความยากลำบากในการเดินทางที่เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาแล้ว ก็อยากให้ทุกคนได้สนับสนุนผลผลิตที่ชาวบ้านทุกคนลงมือลงแรงด้วยความตั้งใจ และเราเชื่อว่าเชฟของ Another Hound Cafe จะสามารถนำถั่วแขกมารังสรรค์เป็นเมนูแสนอร่อยให้ทุกคนได้ประทับใจกันแบบไม่ให้เสียแรงของชาวบ้าน เหงื่อทุกหยดที่เสียไปไม่มีคำว่าเสียเปล่า เมื่อแลกมากับเมนูสุดพิเศษที่คุณกำลังจะได้ลองกันเร็วๆ นี้

French Beanถั่วแขกที่ผ่านการคัดโดยชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว

เรื่องราวการเดินทางของเรายังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะยังเหลือวัตถุดิบหลักอีก 2 อย่าง ที่ถือเป็นไฮไลท์จากเมนู  ‘Royal Project-Our food is our Craftsmanship’ ให้ได้ติดตามกัน แล้วคุณจะอยากให้ถึงเดือนธันวาคมเร็วๆ เหมือนกับเรา

คลิกที่ลิงค์ด้านล่างเพื่ออ่านเรื่องราวใน Part 1 และ Part 3 ได้เลย

The Unforgettable Journey: Royal project & Another Hound Cafe : Part 1  คลิกที่นี่

The Unforgettable Journey: Royal project & Another Hound Cafe : Part 3 คลิกที่นี่