The Unforgettable Journey: Royal project & Another Hound Cafe (Part 3)


The Unforgettable Journey: Royal project & Another Hound Cafe (Part 3)

และแล้วการเดินทางของเราก็มาถึงวันสุดท้าย เป้าหมายต่อไป ทีมงานจากโครงการหลวงพาเราขึ้นไปยัง น้ำตกสิริภูมิ ธารน้ำตกที่มีต้นกำเนิดมาจากยอดดอยอินทนนท์ และน้ำจากน้ำตกสิริภูมินี่เอง ที่นำไปใช้เลี้ยง “ปลาเรนโบว์เทราต์” อีกหนึ่งวัตถุดิบหลักสำหรับจานพิเศษใน ‘Royal Project-Our food is our Craftsmanship’ ที่นี่เราได้เห็นถึงความสะอาด ความใสของน้ำเย็นๆ ที่ไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง เป็นบรรยากาศที่มีความร่มรื่น หายใจได้อย่างเต็มปอด ทำให้ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางหายไปในทันที

waterfallน้ำใสๆ จากน้ำตกสิริภูมิ

เมื่อได้เห็นถึงแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ใช้เพาะเลี้ยงปลาเทราต์แล้ว ทีมงานจากโครงการหลวงก็พาเราเดินทางต่อเพื่อไปพบกับปลาเทราต์ตัวเป็นๆ ที่สถานีวิจัยประมงบนพื้นที่สูงอินทนนท์ นอกจากนี้เรายังได้พบกับผู้เชี่ยวชาญที่มาถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาและเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาเทราต์ด้วย

“ การเพาะเลี้ยงปลาเทราต์เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2516 โดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงอยากหาแหล่งโปรตีนให้ชาวเขา และอยากให้ชาวเขามีอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ จึงมีพระราชประสงค์ให้กรมประมงลองหาพันธุ์ปลาที่สามารถอยู่ในน้ำเย็นได้ จึงได้ปลาเทราต์มาทดลองเลี้ยง โดยได้ไข่ปลามาจากหลายๆ ประเทศ ทั้งเยอรมนี,เนปาล,สหรัฐอเมริกา มีการทดลองวิจัยอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนประสบความสำเร็จในปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่สุดในการเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์คือเรื่องอุณหภูมิน้ำ ต้องไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ซึ่งน้ำจากน้ำตกสิริภูมิที่ใช้เลี้ยงนั้น มีอุณหภูมิเย็นตลอดปี และมีความสะอาด การเลี้ยงปลาเทราต์ ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตการณ์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูความผิดปกติของปลา แล้วรีบหาทางแก้อย่างเร็วที่สุด

Troutบ่อปลาเทราต์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ปี พ.ศ.2516

ทุกเช้าเจ้าหน้าที่จะต้องคอยล้างบ่อทำความสะอาด และมีการให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีโปรตีนสูง เพราะปลาเทราต์เป็นปลาที่ต้องอยู่ในน้ำที่ไหลต่อเนื่องตลอดเวลา จึงต้องใช้พลังงานมากในการว่ายน้ำ และด้วยธรรมชาติที่อยู่ในน้ำไหลตลอด เลยทำให้ปลาเทราต์เป็นปลาที่สุขภาพดี แข็งแรง สะอาด ไม่มีกลิ่นโคลน ส่งผลถึงรสชาติเนื้อที่อร่อย นอกจากนี้ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ได้ทั้งโปรตีน ,กรดไขมันไม่อิ่มตัว และมีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาน้ำจืดชนิดอื่นด้วย

ปลาเทราต์ที่นี่จะมีการสุ่มวัดขนาดทุกเดือน มีการวัดอุณหภูมิน้ำในช่วง 8 โมงเช้า และบ่าย 3 โมง แต่ถ้าเป็นช่วงอนุบาลจะมีการวัดที่ถี่กว่าคือทุกๆ 3 ชั่วโมง ในรอบวันอุณหภูมิไม่ควรห่างกันเกิน 0.5 องศาเซลเซียส ในหนึ่งปีตอนนี้ ทางโครงการหลวงตั้งเป้ายอดขายปลาเทราต์ทั้งหมดไว้ที่ 14 ตันเลยทีเดียว ซึ่งต้องมีการคัดขนาด น้ำหนัก และรูปทรงของปลาเทราต์ที่ดีที่สุด ก่อนจะถึงผู้บริโภค ”

Trout

ปลาเรนโบว์เทราต์มีการเพาะเลี้ยงที่เดียวในประเทศไทยที่โครงการหลวงอินทนนท์เท่านั้น นี่คือความพิเศษที่ Another Hound Cafe ได้รับเกียรติในการนำปลาเทราต์จากโครงการหลวงมาสรรค์สร้างเมนูใหม่ๆ โอกาสดีๆ แบบนี้ไม่ได้มีกันบ่อยๆ เราไม่อยากให้คุณต้องพลาดจริงๆ

แต่ความพิเศษไม่ได้มีเพียงแค่ปลาเรนโบว์เทราต์เท่านั้น เรายังได้วัตถุดิบสุดพิเศษอีกหนึ่งชนิดนั่นก็คือ “ไก่เบรส” ราชินิแห่งไก่เนื้อจากเมืองเบรส ประเทศฝรั่งเศส และเราก็ได้เดินทางมุ่งตรงไปยังสถานีเกษตรหลวงปางดะ ที่หมายสุดท้ายของเราในครั้งนี้ เพื่อไปสัมผัสกับไก่ที่มีความเป็นมาไม่ธรรมดาอย่างใกล้ชิด

ไก่เบรส เป็นไก่ที่มีความพิเศษ โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสเรียกได้ว่าเป็นไก่ตัวแทนของประเทศเลยก็ว่าได้ เนื่องจากสีของไก่เบรสที่บังเอิญไปตรงกับสีของธงชาติฝรั่งเศสพอดี คือบริเวณหงอนเป็นสีแดง, ลำตัว ขน เป็นสีขาว และมีแข้งเป็นสีน้ำเงิน

brese Chickenสีของไก่เบรส ตรงกับสีธงชาติประเทศฝรั่งเศสพอดี

ที่มาของการเลี้ยงไก่เบรสในประเทศไทย ต้องย้อนกลับไปถึงปี พ.ศ.2533 เชฟนอร์เบิร์ท คอสเนอร์ ที่ปรึกษาโครงการหลวง และ Executive Chef ของโรงแรมโอเรียนเต็ล เล็งเห็นว่าภูมิประเทศและภูมิอากาศบนดอยอ่างขางน่าจะเลี้ยงไก่เบรสได้ จึงติดต่อขอรับการสนับสนุนไปยังสมาคมผู้เลี้ยงไก่เบรสที่ประเทศฝรั่งเศส แต่ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากเป็นสัตว์สงวนของชาติ ห้ามนำไก่เบรสที่มีชีวิตออกนอกประเทศ แต่ในท้ายที่สุด เชฟนอร์เบิร์ท ได้เล่าถึงรายละเอียดงานของโครงการหลวงของในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมทั้งส่งวิดีโอไปให้ศึกษาเพิ่มเติม จนทางฝรั่งเศสประทับใจ ยอมส่งพันธุ์ไก่เบรสมาให้ ประเทศไทยจึงสามารถเพาะพันธุ์ไก่เบรสมาได้จนถึงทุกวันนี้

การเลี้ยงไก่เบรส ต้องเลี้ยงในพื้นที่เปิด มีพื้นที่ให้ไก่ได้หาอาหารเอง และได้ออกกำลังกายด้วยเพิ่มเติมจากการอยู่แต่ในเล้าเหมือนไก่ทั่วไป การจะเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงไก่เบรสนั้น ต้องมีการควบคุมความสะอาดอย่างเข้มงวด โดยคุณป้าชาวบ้านที่ดูแลไก่เบรส มีรองเท้าบูทพิเศษเตรียมไว้ให้เราเปลี่ยนก่อน และต้องทำการฆ่าเชื้อก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณทุกครั้ง ในช่วงนี้มีฝนตก จึงจำเป็นที่จะต้องจำกัดพื้นที่ ไม่สามารถให้ไก่เบรสออกมาเดินข้างนอกได้เหมือนปกติเพราะเสี่ยงต่อการติดโรคได้ แต่จากการสังเกตเราก็พบว่าไก่เบรสทั้งหมดดูแข็งแรง อารมณ์ดี ส่งเสียงร้องกันอย่างมีความสุข และภายในพื้นที่เลี้ยงไก่ ไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนเล้าไก่ทั่วไปเลย

คุณป้ายังเล่าให้ทีมงานฟังอีกว่า เมื่อไก่ออกไปเดินหาอาหาร ออกกำลังกาย เมื่อคุณป้าต้องการให้กลับมาอยู่ในเล้า ก็สามารถเรียกได้ สั่งได้ แม้จะเป็นไก่จากฝรั่งเศส แต่ก็สามารถฟังภาษาท้องถิ่นได้ ( ไม่ต้อง Bonjour กับไก่แต่อย่างใด)

Khun Pa Brese Chicken         คุณป้ากับไก่เบรสที่รักเหมือนลูกหลาน

ทีมงานจากโครงการหลวง จะนำไก่ที่ผ่านการฟักแล้ว มาให้ชาวบ้านเลี้ยงในพื้นที่ โดยรุ่นนี้มีไก่เบรสประมาณ 400 ตัว คุณป้าเล่าให้ฟังว่าคุณป้ารู้สึกผูกพันและรักไก่ทุกตัวเหมือนลูกหลานเลย และไก่เบรสก็มีความน่ารัก รู้ภาษา คุณป้ารักใส่ใจเรื่องความสะอาดเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ชาวบ้านด้วยกันที่จะเข้ามาดูไก่ คุณป้าจะให้ไปอาบน้ำก่อนจะเข้ามาในพื้นที่เลยทีเดียว

เนื่องจากไก่เบรสเป็นไก่ที่ต้องอยู่ในสภาพอากาศที่เย็น จึงทำให้เนื้อของไก่เบรสต้องปรับสภาพ ส่งผลให้มีชั้นไขมันแทรก เนื้อไก่เลยไม่เละ ไม่เหนียว นุ่มอร่อย นอกจากนี้เกษตรกรจะให้นมผสมข้าวโพดบดใน 1 เดือนสุดท้ายเป็นอาหารหลัก ทำให้เนื้อไก่เบรสมีกลิ่นหอมน้ำนมจางๆ ความพิเศษแบบนี้ไม่ได้หาได้ทั่วไป ถ้าอยากเจอไก่เบรสก็ต้องไปถึงประเทศฝรั่งเศสหรืออีกที่เดียวที่ได้พันธุ์ไก่เบรสมาเลี้ยงก็มีแต่โครงการหลวง ประเทศไทยนี่เอง และ Another Hound Cafe ก็ได้รับโอกาสสำคัญที่จะได้ราชินีแห่งไก่เนื้อมาเสิร์ฟให้ทุกคนได้ลิ้มลองกัน ถ้าพลาดโอกาสครั้งนี้ เราก็ไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสอีกเมื่อไหร่

Brese Chicken 2 ความน่ารักของไก่เบรส

และนี่คือบทสรุปทั้งหมดของการเดินทางที่น่าจดจำ การได้เข้าไปเห็น ไปสัมผัสถึงต้นกำเนิดของวัตถุดิบ ได้คุยกับคนในพื้นที่ก็ทำให้เราได้เห็นถึงมาตรฐาน ความใส่ใจ ที่ทำให้เรามั่นใจว่าวัตถุดิบทุกอย่างจากโครงการหลวงมีคุณภาพจริงๆ ผ่านการดูแลและขั้นตอนจากคนที่รู้จริง ทำให้เราพูดได้อย่างเต็มปากว่าการได้รับเกียรติในการร่วมงานกับโครงการหลวง ได้วัตถุดิบชั้นเลิศมาออกแบบเมนูอาหารในครั้งนี้ สมกับคำว่า Craftsmanship อย่างแท้จริง เพราะทุกเมนูเทียบได้กับงานศิลปะชั้นเลิศ ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมวัตถุดิบ จนถึงความพิถีพิถันในการปรุง เพื่อให้ได้ทุกจานที่ดีที่สุด

เตรียมตัวให้พร้อม แล้วมาร่วมพิสูจน์รสชาติจากผลงานที่เราตั้งใจถ่ายทอดสุดฝีมือได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปกับเมนู ‘Royal Project-Our food is our Craftsmanship’ ที่ร้าน Another Hound Cafe ทุกสาขา

คลิกที่ลิงค์ด้านล่างเพื่ออ่านเรื่องราวใน Part 1 และ Part 2 ได้เลย

The Unforgettable Journey: Royal project & Another Hound Cafe : Part 1  คลิกที่นี่

The Unforgettable Journey: Royal project & Another Hound Cafe : Part 2 คลิกที่นี่