Deliciously Organic Story : From Ratchaburi with Love


Deliciously Organic Story : From Ratchaburi with Love

นอกจากข้าวมันไก่ออแกนิคแล้ว อีกหนึ่งวัตถุดิบที่ Another Hound Cafe ตั้งใจให้ลูกค้าได้อร่อยกันแบบคัดพิเศษใน Pop Up Project : Deliciously Organic ก็คือหมูที่คุณจะได้ลองกันในเมนู “ข้าวซี่โครงหมูอ่อนอบน้ำผึ้ง” ซึ่งเราพยายามหาหมูที่เหมาะสมจากหลากหลายแหล่ง จนได้พบกับหมูหลุมจากตำบลดอนแร่ จังหวัดราชบุรี ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ และได้คุณภาพตามที่ Another Hound Cafe ต้องการ

ต่อจากสิรินทร์ฟาร์ม จังหวัดเชียงราย ครั้งนี้ทีมงาน Another Hound Cafe เดินทางไปถึงจังหวัดราชบุรี เพื่อพบกับ คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี หรือ พี่พจน์ เพื่อถามถึงประวัติความเป็นมาตั้งแต่เริ่มต้นจนมาเป็นผู้นำในการเลี้ยงหมูหลุมที่มีชื่อเสียงในจังหวัดราชบุรีในทุกวันนี้ รวมถึงสอบถามถึงความพิเศษของหมูหลุมว่าแตกต่างจากหมูในฟาร์มทั่วไปอย่างไร

คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี หรือ พี่พจน์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2558

พี่พจน์ เรียนมาทางด้านการเกษตรโดยตรง จบสัตวบาล เริ่มต้นด้วยการทำงานในฟาร์ม ซึ่งก็ได้พบปัญหาเรื่องกลิ่น แมลงวัน น้ำเสีย และการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ชีวิตในช่วงเช้า พี่พจน์ต้องเข้าไปสำรวจในฟาร์ม ถือสเปรย์กระป๋องไปคอยฉีดสีหมู หมูไอต้องฉีดสีที่คอ ท้องเสียฉีดสีที่ก้น ช่วงสายก็เข้าไปฉีดยา หรือใช้ยาผสมอาหารให้หมูกิน และมีโปรแกรมทำวัคซีนให้หมูทุกอาทิตย์

จนเมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว คุณพจน์ได้ตามภรรยาไปทำคลอดหมูบริเวณใกล้ๆ หมู่บ้าน แล้วพบว่าชาวบ้านเลี้ยงหมูแบบมีวัสดุรองพื้น เข้าไปตอนกลางคืนแล้วไม่มีกลิ่นเหม็นเลย ทั้งๆ ที่มีปริมาณหมูมากพอสมควร พี่พจน์จึงได้แรงบันดาลใจที่อยากจะปรับการเลี้ยงหมูใหม่โดยวิธีธรรมชาติ ไม่พึ่งยา ไม่ใช้วัคซีนดูบ้าง โดยได้สอบถามชาวบ้านว่าเรียนรู้วิธีมาจากที่ไหน ชาวบ้านแนะนำว่าเรียนมาจากอาจารย์โชคชัย สารากิจ ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้แนวทางนี้มาจากประเทศเกาหลี พี่พจน์จึงตัดสินใจขึ้นไปเรียนแนวทางนี้พร้อมชาวบ้านที่กำลังจะเลิกเลี้ยงหมูแล้วเพราะประสบปัญหาหลายๆอย่าง

อาจารย์โชคชัยได้ให้ความรู้เรื่องการใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่นแทนยาและวัคซีน ใช้ราขาว ทำน้ำหมักผลไม้ การทำคอกแทนปูน การทำอาหารเพื่อลดต้นทุน หลังจากเรียนเสร็จ พี่พจน์ก็เริ่มกลับมาลงมือเลี้ยงหมูในแนวทางใหม่ทันทีประมาณ 100 ตัว ซึ่งโดยปกติแล้วใน 100 ตัวจะมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียประมาณ 10-30 เปอร์เซ็นต์ แต่พอใช้แนวทางใหม่ แทบไม่มีการสูญเสียเลย หมูอยู่ได้โตปกติ อารมณ์ดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย พอได้ผลดีเช่นนี้ เลยเริ่มรวมกลุ่มกับชาวบ้านเพื่อขยายตลาด ชำแหละชิ้นส่วนหมูขายทุกวันอาทิตย์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยใช้ระบบพรีออเดอร์

เมื่อทำไปได้สักระยะหนึ่ง จากการขายภายในท้องถิ่นก็เริ่มขยายไปถึงกลุ่มเมือง โดยไปเปิดร้านขายในตัวเมืองราชบุรี ไม่ใช่แค่หมู แต่รวมถึงไก่ เป็ด และผักที่รวมกลุ่มกันทำตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมากเช่นกัน จึงได้เวลาขยายไปสู่การขายในเมืองหลวง มีโรงเรียนทางเลือกที่สายไหมรับซื้อหมูไป จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 10 ปี ก็ยังรับหมูจากชุมชนไปบริโภคอย่างต่อเนื่อง มีการบอกต่อกันระหว่างผู้ปกครอง เมื่อเห็นการตอบรับเช่นนี้ คุณพจน์จึงเริ่มสร้างแบรนด์ให้กับการเลี้ยงหมูในชุมชน แล้วส่งเนื้อหมูเข้าประกวดในโครงการของสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ หรือ สกส. ซึ่งก็ได้รับรางวัลการันตีเป็นอาหารปลอดภัย ซึ่งเมื่อได้รับการเผยแพร่ออกตามสื่อต่างๆ ก็ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีร้านอาหาร โรงแรม ติดต่อมารับหมูไปใช้ต่อ ทุกวันนี้มีกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดราชบุรีอยู่ประมาณ 20-30 ราย โดยพี่พจน์ได้ตั้งศูนย์การเรียนรู้ขึ้น สอนให้กับผู้สนใจ รวมถึงหน่วยราชการ มีการอบรมฟรีให้ทั้งปี และคอยติดตามผลด้วย

คอนเซ็ปต์ในการเลี้ยงหมูหลุมที่นี่คือ คอหมูต้องไม่เจอเข็ม

พี่พจน์เล่าว่าในการเลี้ยงหมูปกติ เริ่มต้นหมูจะต้องฉีดธาตุเหล็กที่คอ ใน 3 วันแรกตั้งแต่เกิด ต่อมาที่ต้องฉีดคือวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค,ปากเท้าเปื่อย,พิษสุนัขบ้า รวมประมาณ 5-6 ชนิด เพื่อกระตุ้นให้หมูมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งทั้งหมดนี้หมูหลุมไม่ต้องใช้เลย

หมูฟาร์มทั่วไปต้องตัดหางใน 3 วันแรก เพื่อป้องกันการกัดหางกันเมื่อหมูอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สบาย มีความเครียด ซึ่งหมูหลุมไม่ต้องตัด เพราะหมูที่นี่อารมณ์ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง

เนื่องจากหมูหลุมเลี้ยงอยู่บนพื้นแกลบที่มีความนุ่ม กีบจะไม่สึก คากิสวย ต่างจากหมูที่เลี้ยงบนพื้นปูนซึ่งเล็บจะแตก ฉีก ทำให้เกิดการอักเสบ ส่งผลให้หมูไม่อยากกินอาหาร ป่วย ก็ต้องฉีดยาหรือใช้ยาผสมในอาหาร ซึ่งหมูหลุมจะไม่พบปัญหาเช่นนี้เลย

ตามปกติ พ่อค้าจะมารับซื้อหมูก็ต่อเมื่อมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น เพราะได้กำไรมากกว่า แม้ผู้เลี้ยงไม่อยากใส่ ก็จำเป็นต้องใส่ ซึ่งสารเร่งเนื้อแดงเป็นสารเป็นสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ถ้าในคนก็คือยาแก้หอบหืด หมูได้รับสารเข้าไปจะเกิดอาการ เกร็ง สั่น เมื่อคนรับสารนี้ไปมากๆ ก็อาจเกิดการสะสมทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แต่หมูหลุมที่นี้ไม่ต้องใช้สารเร่งเนื้อแดง การให้อาหารอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย สามารถช่วยเพิ่มปริมาณเนื้อแดงได้เพียงพอ

หมูที่ยืนบนพื้นปูนตลอดเวลาจะต้องเกร็ง สร้างกล้ามเนื้อที่เหนียวกว่า ส่งผลไปถึงสะโพก ไหล่และหลังหมู ต่างจากหมูหลุมที่อยู่บนพื้นแกลบที่นุ่ม ไม่ต้องเกร็ง เนื้อที่ได้ก็จะนุ่มกว่า

หมูที่ได้รับยาเป็นประจำ ร่างกายจะสร้างสารขึ้นมาต่อต้าน ทำให้เกิดกลิ่นคาวได้ แต่การเลี้ยงหมูหลุมใช้วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ ให้หมูได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติที่เหมาะสมออกมา ซึ่งส่งผลให้การเจ็บป่วยลดลง ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน เพราะหมูสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยตัวเอง หมูหลุมที่นี่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นคาวที่ตกค้างจากการใช้ยาให้ต้องกังวลใจ

หมูที่นี่เลี้ยงเลียนแบบธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้ยา ปลอดภัยกว่าแน่นอน แล้วยังได้จุลินทรีย์ที่ดี ช่วยให้ไม่มีกลิ่นเหม็นด้วย

การเลี้ยงหมูหลุม ใช้พื้นที่ 2 ตารางเมตรต่อตัว ซึ่งหมูฟาร์มปกติจะใช้พื้นที่ 1 ตารางเมตรต่อตัว ใช้เวลาเลี้ยงทั้งหมดประมาณ 6 เดือนถึงสามารถขายได้

สายพันธุ์หมูจะแยกสายพันธุ์แท้รุ่นปู่ย่าไว้ 1 หลัง แล้วมาผสมต่อเป็น 2 สาย คือพันธุ์ลาร์จไวท์และพันธุ์แลนด์เรซ ไปจนถึง 3 สายที่ให้คุณภาพเนื้อที่ดีที่สุด หมูที่นี่ใช้การผสมเทียมทั้งหมด ซึ่งมีข้อดีคือหมูไม่มีโรค ประหยัดอาหารที่ต้องให้พ่อหมู มีพ่อหมูไว้แค่พอกระตุ้นให้แม่หมูเป็นสัดได้ก็เพียงพอแล้ว

พื้นที่ใช้ในการเลี้ยงหมูหลุมจะใช้แกลบที่ได้จากการสีข้าวรองพื้นประมาณ 60 ซม. แล้วใช้จุลินทรีย์ 2 ตัว ราขาวกับน้ำหมักผลไม้ ราดทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ หลังจากนั้นก็จะฉีดพ่นหรือราดทุกอาทิตย์ด้วย นอกจากนี้ยังต้องใช้จุลินทรีย์ผสมน้ำให้หมูกินด้วย ช่วยให้การย่อยอาหารของหมูดีขึ้น และไม่มีกลิ่น

ตามปกติเมื่อนำมูลหมูไปตรวจ จะพบไนโตรเจน แอมโมเนีย ประมาณ 6 % ซึ่งหมูหลุมเมื่อนำไปตรวจแล้วพบปริมาณไนโตรเจน แอมโมเนียเพียง 1 % เท่านั้น เนื่องจากจุลินทรีย์ไปช่วยย่อยในระบบ ทำให้กลิ่นลดลง

ในส่วนของสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงหมูจะแบ่งเป็นสองประเภทคือ อาหารข้น อาหารของหมูฟาร์มจะใช้รำ ปลายข้าว กากถั่ว ปลาป่น วิตามิน แร่ธาตุ ฟอสฟอรัส แคลเซียม มาผสมรวมกัน หมูแต่ละระยะก็จะให้โปรตีนแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม สูตรอาหารของหมูหลุมก็เช่นกัน แต่ถอดฟอสฟอรัส และแคลเซียมออก เพราะหมูไม่จำเป็นต้องสร้างกระดูกเล็บให้แข็งเพื่อไปยืนบนพื้นปูนเหมือนหมูฟาร์ม และจะไม่ใช้ปลาป่น เพราะอาจมีเชื้ออีโคไลตกค้างในปลาป่นทำให้หมูท้องเสียได้

อาหารประเภทที่สองคือ อาหารหมัก จะใช้ต้นกล้วยมาสับแล้วหมักกับเกลือ น้ำตาลทรายแดง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้ประมาณ 20-30 % ช่วยให้หมูกินได้มากขึ้น กระเพาะใหญ่ขึ้น ช่วยเรื่องการดูดซึม การย่อยให้ดีขึ้น

พี่พจน์นำตัวอย่างอาหารที่ใช้เลี้ยงหมูให้ทีมงานได้เห็นใกล้ๆ

                                ทีมงานทุกคนต้องสวมชุดป้องกันเชื้อโรคก่อนเข้าชมฟาร์มด้วย

                             แกลบที่เหลือนำมาทำเป็นปุ๋ยขาย นำรายได้เข้ากลุ่มได้อีกทาง

ในหนึ่งคอกหมู สามารถนำแกลบไปใช้เป็นปุ๋ยต่อได้มากถึง 5-6 พันกิโลกรัม ปีนึงได้ปุ๋ยราวๆ 1 พันตัน แพ็กใส่ถุงขายต่อได้ 1 ถุง 25 กิโลกรัม ขายถุงละ 50 บาท เกษตรกรชอบเพราะนำไปใช้ปลูกพืชได้ผลดี และไม่มีกลิ่นเหม็น จากแกลบเหลือใช้ก็กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางหารายได้เข้ากลุ่มอย่างยั่งยืนได้

พี่พจน์พยายามใช้ทุกอย่างให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ตั้งใจศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนาและสอนกลุ่มสมาชิกแบบไม่หวงความรู้เพื่อเติบโตไปพร้อมๆกัน หมูทุกตัวที่นี่ ได้รับความรักจากพี่พจน์และทีมงานอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อได้เห็นถึงความทุ่มเท ตั้งใจ และคุณภาพทั้งหมดด้วยตัวเองแล้ว Another Hound Cafe จึงมั่นใจที่จะใช้หมูหลุมจากตำบลดอนแร่ จังหวัดราชบุรี มาสร้างสรรค์เมนูอร่อย ปลอดภัย ได้คุณภาพใน Pop Up Project : Deliciously Organic เพราะลูกค้าที่เรารักที่สุด ต้องได้รับประทานอาหารที่ดีที่สุดเท่านั้น

นอกจากไก่, ไข่ไก่,ข้าวออแกนิค 100% และหมูปลอดภัยจากดอนแร่แล้ว ในตอนหน้า ยังมีอีกหนึ่งวัตถุดิบสำคัญที่เราตั้งใจเลือกอย่างเต็มที่ เพื่อให้คุณได้อร่อยพร้อมสุขภาพดีไปด้วยกัน

อร่อยกับเมนูอร่อยออแกนิคจาก Pop Up Project : Deliciously Organic ได้แล้ววันนี้ที่ร้าน Another Hound Cafe เฉพาะสาขา Central Embassy ชั้น 5

คลิกที่ลิงค์ด้านล่างเพื่ออ่านเรื่องราวของวัตถุดิบออแกนิคจากสิรินทร์ฟาร์ม และผักออแกนิคจาก King Fresh Farm ได้เลย

Deliciously Organic Story : Another Hound Cafe X Sirin Farm คลิกที่นี่

Deliciously Organic Story: King Fresh Farm Vegetables คลิกที่นี่

ติดตามเมนูทั้งหมดของ Pop Up Project : Deliciously Organic คลิกที่นี่